เตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

เตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์

“เตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” คำกล่าวนี้ไม่ว่าเหตุการณ์ หรือสถาณการณ์ไหนก็มักใช้ได้ผลอยู่เสมอ ไม่พ้นแม้กระทั่งเรื่องของการตั้งครรภ์ การเตรียมตัวที่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ หรือแม้แต่สุขภาพด้านการเงินและสังคม ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ว่าที่คุณแม่และคุณพ่อทุกท่านไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อร่างกายและจิตใจพร้อมก็มักจะส่งผลให้การตั้งครรภ์นั้นผ่านไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุขทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ วันนี้เราจึงมีวิธีเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์มาฝากสาวๆ ทุกท่านที่วางแผนจะเป็นว่าที่คุณแม่ในอนาคต เพื่อให้การตั้งครรภ์ของทุกท่านเป็นครรภ์ที่มีคุณภาพกันค่ะ

เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพร่างกาย

พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์

แม้ว่าเราจะไม่เคยมีโรคประจำตัวหรือเจ็บป่วยใดๆ มาก่อน ก็ใช่ว่าเราจะสมบูรณ์แข็งแรงเสมอไป ดังนั้นก่อนวางแผนมีบุตรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์เพื่อคุณหมอจะได้ช่วยวางแผนการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมและช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติต่างๆ ที่จำเป็น ตรวจร่างกายรวมถึงตรวจภายใน และทำการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาภาวะต่างๆ ที่สามารถส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น ภาวะโลหิตจาง เลือดจางธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น

สำหรับสาวๆท่านไหนที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม ก่อนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอว่าโรคประจำตัวที่มีอยู่จะสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ และอาจต้องงดหรือปรับเปลี่ยนยาบางอย่างที่รับประทานอยู่เพื่อลดความเสี่ยงต่อลูกในครรภ์ ดังนั้นจึงควรเลือกสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลการตั้งครรภ์เสี่ยงสูง เพื่อให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุดระหว่างตั้งครรภ์

ตรวจสุขภาพช่องปาก

การมีสุขภาพช่องปากที่ดีก็มีความสำคัญไม่แพ้สุขภาพร่างกายในส่วนอื่น เนื่องจากภาวะทางโรคเหงือกและฟันสามารถส่งผลในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นการไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์นอกจากจะช่วยให้มีสุขอนามัยที่ดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วย

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

การมีน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไปสามารถส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ทั้งสิ้น โดยถ้าน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์น้อยเกินไปอาจส่งผลให้ลูกในครรภ์มีน้ำหนักน้อย การเจริญเติบโตช้า และเพิ่มความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ในขณะที่ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากมีโอกาสตั้งครรภ์ยาก เพิ่มความเสี่ยงเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด และสามารถส่งผลกับทารกในครรภ์ เช่น เพิ่มการเกิดความพิการแต่กำเนิด ทารกตัวโต เป็นต้น ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นประจำและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีซึ่งจะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของคุณแม่และเจ้าตัวน้อย

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเสริมวิตามินกรดโฟลิก

ในคุณแม่ที่เตรียมตั้งครรภ์แนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานโปรตีนจากแหล่งที่หลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ธัญพืชต่างๆ เพิ่มอาหารที่มีโอเมก้า 3 และดีเอชเอสูง โดยพบมากในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน หรือปลาน้ำจืดหลายชนิด เช่น ปลากะพง ปลาช่อน โดยแนะนำให้รับประทาน 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันและน้ำตาลสูง ทานผักผลไม้ให้ครบ 5 สี เพื่อให้ได้เกลือแร่และวิตามินที่ครบถ้วน เสริมวิตามินกรดโฟลิกอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมต่อวัน โดยควรเริ่มรับประทานอย่างน้อย 1-3 เดือนก่อนตั้งครรภ์และต่อเนื่องไปจนอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาทของทารก เช่น ภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิด รวมถึงภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้อีกด้วย

ฉีดวัคซีนที่จำเป็น

วัคซีนที่ควรฉีดเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนอิสุกอีใส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ซึ่งหลังฉีดควรเว้นการตั้งครรภ์ไปก่อน 1-3 เดือนขึ้นกับวัคซีนแต่ละชนิด

ลดละเลิกพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด ต่างเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มความเสี่ยงแท้งบุตร อาจก่อให้เกิดความพิการทางร่างกายแต่กำเนิด รวมถึงส่งผลให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการทางสมองและสติปัญญาของลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นเมื่อวางแผนจะตั้งครรภ์จึงควรงดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวโดยทันที

สำหรับผู้ที่ดื่มชากาแฟเป็นประจำ มีข้อแนะนำในการบริโภคคาเฟอีนระหว่างตั้งครรภ์ คือไม่ควรบริโภคเกิน 200 มิลลิกรัม/วัน เทียบกับกาแฟ 1-2 แก้ว/วัน

เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพจิตใจ

นอกจากการเตรียมสุขภาพกายให้สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวลหรือเคร่งเครียดมากเกินไป เป็นสิ่งที่ควรฝึกทำอยู่เสมอ พบว่าคุณแม่ที่อารมณ์ดีมักส่งผลให้ลูกน้อยมีภาวะอารมณ์ที่มั่นคง เป็นเด็กอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย ดังนั้นเรามาเริ่มเป็นผู้หญิงคิดบวกกันตั้งแต่วันนี้เพื่อลูกน้อยอารมณ์ดีในอนาคตกันเถอะ

เมื่อเรามีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว วางแผนการเงินในกระเป๋าอีกสักนิด เตรียมวางแผนการดูแลเจ้าลูกน้อยหลังคลอดอีกสักหน่อย เชื่อว่าจะช่วยให้ทุกครอบครัวเป็นคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่มีคุณภาพ พร้อมต้อนรับลูกน้อยที่จะเข้ามาเติมเต็มความอบอุ่นในครอบครัวในอีกไม่นานเกินรออย่างแน่นอนค่ะ

 

พญ.ศุภศิริ หะยะกังฉัตร์
แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
 
Privacy Settings