ผู้สูงอายุกับ ฝุ่น PM 2.5

ผู้สูงอายุกับ ฝุ่น PM 2.5

ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่จำเพาะ หลายๆ ท่านมักมีโรคประจำตัวเรื้อรังร่วมด้วย ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 ปริมาณมาก ฝุ่นจิ๋วนี้เมื่อผู้สูงอายุสูดหายใจเข้าไปสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรงและส่งผลกระทบต่อร่างกายได้อย่างคาดไม่ถึง

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน

ปกติมนุษย์เราทำให้เกิดฝุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่เมื่อมีลมพัด ฝนตก ก็ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่เมื่ออากาศนิ่ง ฝุ่นจะไม่ฟุ้งกระจาย คล้ายกับมีโดมขนาดใหญ่ครอบเอาไว้ ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นสูงมากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แหล่งสำคัญของฝุ่น PM 2.5

แหล่งสำคัญของ ฝุ่น PM 2.5 ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์, ฝุ่นจากการก่อสร้าง, การเผาป่า, การเผาขยะ, ควันบุหรี่, ฯลฯ

ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

  • สะสมตามหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวหรือตีบตัน หากเป็นหลอดเลือดที่สมอง ทำให้มีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ หากสะสมที่หลอดเลือดหัวใจก็ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายเฉียบพลัน
  • สะสมในปอด ผู้สูงอายุที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ฝุ่นจิ๋วสามารถทำให้โรคกำเริบเฉียบพลันได้ นอกจากนั้นยังเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งปอด หากได้รับฝุ่นจิ๋วปริมาณมากและนาน
  • สะสมในสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารอักเสบชนิดต่างๆ ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บและเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีฝุ่น PM 2.5

  1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากผู้สูงอายุชอบออกกำลัง แนะนำออกกำลังกายในบ้านหรือในฟิตเนสแทน
  2. หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ควรสวมใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 เสมอ และสวมใส่แว่นกันแดดเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าตา
  3. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องนอนผู้สูงอายุ เพื่อช่วยกรองอากาศให้สะอาดมากขึ้น
  4. ดูแลบ้านให้สะอาดสม่ำเสมอ ควรปิดหน้าต่างประตูเพื่อป้องกันฝุ่นเข้ามาในบ้าน
  5. ติดตามข่าวสารเรื่องสภาพอากาศสม่ำเสมอ

ข้อมูลโดย: พญ.วชิราภรณ์ คูณรังษีสมบูรณ์

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings