ลูกนอนกรน สะดุ้งตื่นบ่อย สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

 ลูกนอนกรน สะดุ้งตื่นบ่อย สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

นอนกรน นอนหายใจเสียงดัง เสียงครืดคราด เป็นหนึ่งในปัญหาการนอนที่พบได้บ่อยในเด็ก ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต โดยเฉพาะในช่วง 2-8 ขวบ ซึ่งสาเหตุหลักของอาการนอนกรนในเด็ก ที่พบได้บ่อย คือ ต่อมทอลซิลและต่อมอะดีนอยด์โต เพราะในช่วงอายุนี้เด็กจะมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้บ่อยที่สุด ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้ต่อมทอลซิลต่ออะดีนอยด์โตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภูมิแพ้จมูก โรคอ้วน ผนังกั้นจมูกคด หรือความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมถึงโรคทางพันธุกรรมต่างๆ

โดยระดับความรุนแรงของโรค มีตั้งแต่การนอนกรนธรรมดา (Primary snoring) จนถึง โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)

หากลูกมีโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) จะส่งผลอย่างไรบ้าง?

OSA (Obstructive sleep apnea) ในเด็ก ส่งผลให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง มีการลดลงของการหลั่ง Growth Hormone ซึ่ง ส่งผลในด้านต่างๆ ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

  1. มีผลต่ออารมณและพฤติกรรม หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ซุกซนมากผิดปกติ สมาธิสั้น (ADHA)
  2. ภาวะเลี้ยงไม่โต (Failure to thrive)
  3. ผลต่อการทำงานของปอดและหัวใจ อาจรุนแรงถึงทำให้เกิด ความดันหลอดเลือดปอดสูง และเกิด ภาวะหัวใจห้องข้างขวาล้มเหลว

วิธีการสังเกตุว่าลูกมีอาการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่

สังเกตอาการขณะนอนหลับ

  1. นอนกระสับกระส่าย
  2. สะดุ้งตื่นบ่อย
  3. อ้าปากหายใจ
  4. นอนหายใจเสียงดัง ครืดคราด

บางรายอาจมีอาการแสดงอื่นๆ เช่น

  1. ปัสสาวะรดที่นอน
  2. อ้าปากหายใจในเวลากลางวัน
  3. พูดเสียงอู้อี้ขึ้นจมูกตลอดเวลา
  4. น้ำมุกไหลเรื้อรัง
  5. สมาธิสั้น ซุกซนผิดปกติ
  6. มีอาการง่วงในเวลากลางวันมากผิดปกติ

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีอาการดังกล่าว ผู้ปกครอง ควร สังเกตการนอนอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตว่ามีอาการ หยุดหายใจระหว่างการนอนหลับร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาไม่ควรปล่อยไว้เรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม อาการหยุดหายใจจะพบได้บ่อยในช่วงที่เด็กนอนหลับสนิท หรือใกล้ๆรุ่งเช้า อาจทำให้การสังเกตของพ่อแม่ ผู้ปกครองคลาดเคลื่อนได้ หากไม่มั่นใจ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ โดยอาจถ่ายคลิปวีดีโอช่วงที่มีอาการผิดปกติเพื่อให้แพทย์ได้ประเมินอาการและช่วยในการวินิจฉัยร่วมด้วย

แต่หากลูกมีอาการป่วยจากการเป็นหวัดติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น ก็จะทำให้ทางเดินหายใจบวมและมีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน แต่ถ้าการติดเชื้อทางเดินหายใจดีขึ้น แต่ยังพบอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินอีกครั้ง

การวินิจฉัย โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ในเด็ก

การนอนกรนอาจเป็นอันตรายได้ หากการนอนกรนนั้นเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลงหรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome)

ดังนั้น สิ่งที่แพทย์จะต้องประเมิน คือ เด็กมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจการรักษา โดยแพทย์จะประเมินจาก

  1. ซักประวัติ
  2. แบบสอบถามทางการแพทย์เพื่อการคัดกรอง (Pediatric Sleep Questionnaire, Obstructive Sleep Apnea Screening Tool)
  3. การตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และโครงสร้างใบหน้า
  4. ภาพถ่ายรังสี ประเมินขนาดต่อมอะดีนอยด์
  5. การส่องกล้องประเมินทางเดินหายใจส่วนบน
  6. การตรวจการนอนหลับ (Sleep test)

การตรวจการนอนหลับในเด็ก มีตั้งแต่ประเภทที่ 1, 2 และ 3 โดยมีอุปกรณ์การตรวจ วิธีการตรวจที่มีความซับซ้อนและละเอียดที่ต่างกัน และผลตรวจที่มีความไว ความจำเพาะที่ต่างกัน

การตรวจการนอนประเภทที่ 1 (Attended Polysomnography) เป็นการตรวจมาตรฐานสำหรับการวินิจฉัยภาวะ OSA แต่เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่างในผู้ป่วยเด็ก การตรวจการนอนชนิดนี้จะทำได้ ในโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านการนอนหลับที่เชี่ยวชาญในเด็กโดยเฉพาะ รวมถึง อุปกรณ์ตรวจพิเศษในเด็ก

อย่างไรก็ตาม การตรวจการนอนหลับโดยวิธีอื่นๆ เช่น ประเภทที่ 2, 3 หรือการวัดออกซิเจนจากชีพจรตลอดคืน (Overnight pulse oximetry) สามารถนำมาช่วยคัดกรอง วินิจฉัย และวางแผนการรักษาได้ ในกรณีที่มีข้อจำกัดไม่สามารถส่งตรวจ Full PSG ได้

ซึ่งแพทย์จะตัดสินใจส่งตรวจหรือประเมินแต่ละอย่าง ตามอาการและการตรวจร่างกายที่พบในผู้ป่วยเด็กโดยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละราย

การรักษาโรคนอนกรน โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ในเด็ก

  1. การรักษาด้วยยา ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีต่อมทอลซิลอะดีนอยด์โต หรือ มีภูมิแพ้จมูก ร่วมด้วย และอาการกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรง แพทย์จะเริ่มให้การรักษาด้วยยา ซึ่งผู้ป่วยเด็กควรได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์ต่อเนื่อง เป็นเวลาอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ เพื่อประเมินผลการรักษาและวางแผนการรักษาต่อไป
  2. การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ และทอลซิล (Adenotonsillectomy) เป็นการผ่าตัดรักษาหลักในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากสาเหตุหลักที่พบในเด็กคือ ต่อมทอลซิลอะดีนอยด์โต โดยพิจารณาใน ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการ รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ตรวจพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงร่วมด้วย มีจำเป็นต้องรีบให้การรักษา ซึ่งมากกว่า 90%พบว่า หลังการผ่าตัดแล้ว อาการนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับจะดีขึ้นมากและ ผู้ปกครองพึงพอใจต่อผลการรักษาเป็นอย่างดี
  3. การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) ใช้ในผู้ป่วยซึ่งมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อร่วมประสาท มีโครงสร้างใบหน้ากะโกลกศีรษะผิดปกติ หรือในผู้ป่วยที่ตัดต่อมทอนซิลแล้วยังมีปัญหา หรือในรายที่มีปัญหาสุขภาพทางด้านอื่นไม่สามารถผ่าตัดได้

การนอนกรน และ หยุดหายใจขณะหลับ เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่พบได้บ่อยในเด็ก และส่งผลต่อเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผู้ปกครองควรสังเกตอาการดังกล่าว หากมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวหรือไม่มั่นใจในอาการ ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจประเมินอาการ ความรุนแรง หาสาเหตุ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

พญ.ภัทรมน วิจักขณาลัญฉ์ โสตศอนาสิกแพทย์
อนุสาขา โสต ศอ นาสิก วิทยาการนอนหลับ
และเชี่ยวชาญ หูคอจมูกเด็ก

Privacy Settings