ข้อเข่า... เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ “การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อ”

ข้อเข่า...เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ “การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อ”

ปัจจุบันได้ยินว่ามีการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อหรือ arthroscopic surgery บ่อยๆ ขอให้คุณหมอช่วยอธิบายให้พอเห็นภาพได้ไหมว่า เขาทำกันอย่างไร?

การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อเป็นเทคโนโลยียุคปัจจุบันที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ในประเทศไทยเราได้ใช้วิธีผ่าตัดแบบนี้มาประมาณ 40 ปีแล้ว หลักสำคัญคือการใช้กล้องส่องลักษณะเป็นท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 4 มม. มีเลนส์ขยายภาพที่ปลายท่อ สอดเข้าไปในช่องของข้อต่อผ่านแผลขนาดเล็กประมาณเม็ดข้าวสาร เพื่อใช้สำรวจสภาพภายในข้อ ที่กล้องมีสายนำแสงมาต่อเพื่อส่องสว่างภายในข้อและยังมีทางให้สารเหลวไหลเข้าออกเพื่อเป็นตัวกลางนำแสงและระบายเลือด เศษเนื้อเยื่อและความร้อนที่เกิดขึ้นจากการะบวนการผ่าตัด กล้องนี้สามารถส่งภาพไปแสดงที่จอเหมือนโทรทัศน์ และใช้ถ่ายทั้งภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวได้ด้วย สำหรับการผ่าตัดนั้น จะมีเครื่องมือขนาดเล็กสอดใส่เข้าไปในข้อต่อผ่านอีกแผลหนึ่ง (หรือหลายแผล) เครื่องมือดังกล่าวมีหลายลักษณะตามการใช้งาน เช่น การตัดเล็ม ดูดเฉือน จี้ตัด กรอ เจาะ เย็บไหม ห้ามเลือด ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ในการควบคุมความดันภายในข้อเพื่อช่วยให้ผนังข้อโป่งตึงขึ้น ทำให้เห็นโครงสร้างภายในได้ดีขึ้นและช่วยในการห้ามเลือดด้วย

แล้วดีกว่าวิธีผ่าตัดแบบเดิมๆ อย่างไร?

จะเห็นว่าการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดทำอะไรสักอย่างภายในข้อในอดีต ซึ่งจะต้องเปิดแผลใหญ่อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว จึงพอที่จะปฏิบัติการได้ระดับหนึ่ง แม้กระนั้นก็ตาม ถ้าเป็นส่วนที่อยู่ลึกๆ ก็ยังอาจจะมองไม่เห็นเหมือนการใส่กล้องขนาดเล็กเข้าไป แถมกล้องยังมีแบบที่หน้าเลนส์มองเอียงได้เหมือนการเหล่ตามองทางด้านข้างอีกด้วย การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อจะมีประโยชน์ในเรื่องนี้ยิ่งขึ้นหากเป็นข้อต่อที่มีขนาดใหญ่หรือมีช่องข้อใหญ่พอเมื่อเทียบกับขนาดของกล้อง มีซอกหลืบซ่อนอยู่หลังโครงสร้างอื่น และตัวข้อมีตำแหน่งอยู่ลึกๆ ในร่างกาย ข้อต่อที่มีการผ่าตัดแบบนี้กันแพร่หลาย ได้แก่ ข้อเข่า ข้อไหล่ รองลงมาก็มีข้อสะโพก ข้อศอก ข้อเท้า ข้อมือ

สามารถใช้การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อในการเปลี่ยนข้อเทียมได้ไหม?

ปัจจุบันยังทำไม่ได้และถึงอนาคตก็ไม่น่าจะต้องทำแบบนั้น คิดง่ายๆ เนื่องจากขนาดของข้อเทียมซึ่งมีมิติใหญ่มาก ถ้าจะเอาไปใส่แทนที่ข้อเดิมซึ่งต้องมีการผ่าตัดแต่งแบบให้เป็นโครงสร้างที่เข้าได้กับข้อเทียมที่จะสวมกันได้พอดี ก็ต้องดำเนินการผ่านแผลขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงป่วยการที่จะใช้กล้องส่องข้อมาช่วยครับ

ถ้าอย่างนั้น ที่ได้ยินว่ามีการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อในการซ่อมสร้างเอ็นในข้อเข่า ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในนักกีฬานั้นเป็นอย่างไร?

ประเด็นนี้มีรายละเอียดอยู่มาก อาจต้องอธิบายเป็นการเฉพาะในโอกาสหน้า แต่โดยหลักการนั้น เป็นการผ่าตัดแผลเล็กโดยใช้กล้องส่องข้อช่วยในการสอดใส่และตรึงเอ็นที่แต่งลักษณะให้ใกล้เคียงลักษณะของเอ็นเดิมที่ขาดและใช้การไม่ได้ (รวมทั้งเย็บซ่อมก็ไม่ได้) แล้วนั้นเข้าไปแทนที่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด คือใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เอ็นธรรมชาติเกาะอยู่นั้นให้มากที่สุด เพื่อว่าเมื่อเอ็นที่สร้างใหม่นี้ฟื้นสภาพดีแล้ว จะสามารถทำหน้าที่แทนเอ็นที่เสียหายเดิมนั้นได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นนักกีฬา เมื่อผ่านการบริหารเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพดีแล้ว ก็จะสามารถกลับไปเล่นได้ตามเดิม ในการนี้ เนื่องจากในประเทศไทยเรายังไม่นิยมใช้เอ็นเทียมหรือเอ็นชีวภาพที่เตรียมมาจากร่างมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้ว ที่เรียกว่า allograft (ซึ่งมีราคาแพงมาก และมีความเสี่ยงในด้านการแพร่เชื้อโรค) จึงต้องมีแผลเพิ่มขึ้นที่เกิดจากการผ่าเอาเนื้อเยื่อของตัวเองเพื่อนำมาทำเป็นเอ็นทดแทน (เรียกว่า autograft) ดังกล่าวด้วย

การผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อ จะต้องมีการดมยาสลบหรือไม่?

การผ่าตัดทุกอย่างจะต้องมีการทำให้หายปวดเสียก่อน แต่ไม่จำเป็นต้องหมดสติเสมอไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของข้อที่จะส่องกล้อง และเทคนิคของวิสัญญีแพทย์ หรือหมอดมยา (น่าจะเป็นหมอรมยา เพราะหมอเองไม่ได้ดมยา แต่รมยาให้คนไข้ดม) การผ่าตัดที่แขนขาส่วนใหญ่จะสามารถใช้วิธีทำให้แขนขาชาด้วยการฉีดยาชาอาบแผงประสาทได้โดยไม่ต้องทำให้หมดสติ ในการนี้ คนไข้เองสามารถหารือกับคุณหมอว่าจะเลือกวิธีไหน ถ้ายังมีสติอยู่ เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว จะสามารถรับประทานอาหารได้เร็วกว่าการดมยาให้หมดสติ ซึ่งฟื้นมาใหม่ๆ มักจะยังมีอาการงัวเงีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่การใช้ยาชาก็มีข้อเสียบางอย่าง เช่น ถ้าใช้วิธีฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลังหรือการบล็อกหลัง หลังผ่าตัดอาจปัสสาวะไม่ออกหรือปวดศีรษะได้ระยะหนึ่ง เป็นต้น สำหรับผู้ที่ไม่ตระหนกกลัวมากนัก การรู้สึกตัวในระหว่างการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อบางแห่ง เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า บางทีอาจขอดูภาพภายในข้อของตัวเองที่แสดงอยู่ในจอภาพ ซึ่งเป็นภาพน่าประทับใจที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อนหรือไม่มีโอกาสจะได้เห็นอีกเลยก็ได้

Privacy Settings