โรคต้อหิน (Glaucoma)

โรคต้อหิน Glaucoma

ต้อหิน เป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอด เปรียบเสมือนมัจจุราศมืดที่ขโมยการมองเห็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งอาจไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก สาเหตุเกิดจากขั้วประสาทตาถูกทำลายจากความดันลูกตาสูง หรือบางรายอาจมีความดันลูกตาไม่สูง แต่มีการสูญเสียของลานสายตา หากไม่ทำการรักษา หรือรักษาไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ชนิดของต้อหิน

  1. ต้อหินมุมเปิด มักพบมีความดันลูกตาสูง หรือปัจจุบันพบว่าคนไข้บางคนความดันลูกตาอาจไม่สูงก็ได้ร่วมกับมุมตาเปิด และมีการทำลายของขั้วประสาทตา อาจเป็นจากโรคบางอย่างเช่นเบาหวาน หรือมีการอักเสบในลูกตา หลังผ่าตัดเป็นต้น
  2. ต้อหินมุมปิด ซึ่งคนไข้อาจมาด้วยปวดศรีษะ ปวดตา ตามัว อาจร่วมกับมีคลื่นไส้หรืออาเจียน ตรวจพบมีมุมตาแคบ ความดันลูกตาสูง กระจกตาบวม
  3. ต้อหินในเด็ก ซึ่งอาจเจอได้ตั้งแต่แรกเกิด พบมีลูกเป็นฝ้าขาว ตาดำโต มีน้ำตาเอ่อ สู้แสงไม่ได้ ตรวจพบมีความดันลูกตาสูง

ผู้ที่มีความเสี่ยง

  1. ประวัติในครอบครัวเป็นต้อหิน โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น บิดามารดา พี่น้อง
  2. อายุมากกว่า 40 ปี
  3. มีความดันลูกตาสูง ( ค่าปกติคือไม่เกิน 21 มิลลิเมตรปรอท )
  4. เคยประสบอุบัติเหตุทางตา
  5. มีโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  6. มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรับประทาน พ่น ทา หรือฉีด
  7. สายตาสั้นมากหรือยาวมาก

การรักษา

  1. โดยการใช้ยา ทั้งชนิดยาหยอดและยารับประทาน ซึ่งเป็นการรักษาที่สะดวกและง่ายที่สุด อาจเป็นการหยอดยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน จุดประสงค์เพื่อลดความดันลูกตา โดยจำเป็นต้องใช้ยาเป็นประจำสม่ำเสมอ
  2. การรักษาโดยวิธีเลเซอร์ เพื่อเพิ่มการระบายของน้ำในช่องหน้าลูกตา (ตามชนิดของต้อหินและตามความเห็นของจักษุแพทย์ )
  3. การผ่าตัด เพื่อระบายน้ำในลูกตา ลดความดันลูกตาให้ต่ำลง ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดทำช่องระบายน้ำทางเยื่อบุตาขาว หรือในปัจจุบัน มีการใส่เครื่องช่วยในการระบายน้ำลูกตาออกไปทางเยื่อบุตาขาว

ดังนั้นควรมีการตรวจเช็คสายตา โดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อสุขภาพตาที่ดี และการมองเห็นที่คงอยู่กับเราตลอดไป

Privacy Settings