ต่อมลูกหมากโต ความผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม

ต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโต หรือ BPH คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ จนไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง พบในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และโดยเฉพาะในผู้ชายสูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไปพบมากถึง 80%

อาการบอกโรค

ในทางการแพทย์จะมุ่งเน้นที่อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยที่ผิดปกติเป็นหลัก มากกว่าขนาดก้อนต่อมลูกหมาก สามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • ปัสสาวะขัด
  • ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือต้องเบ่งปัสสาวะจนกว่าจะออก
  • ปัสสาวะไม่พุ่ง สะดุดเป็นช่วงๆ มีปัสสาวะหยดเมื่อใกล้จะสุด ปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน
  • ปวดปัสสาวะรุนแรงมาก

วิธีตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยต่อมลูกหมากโตใช้วิธีการ ดังนี้

  • ซักประวัติเพื่อตรวจสอบอาการ
  • ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ
  • อัลตราซาวนด์ขนาดต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลง
  • ตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางท่อทวารหนัก “ดีอาร์อี” (Digital Rectal Examination) เพื่อดูความผิดปกติ

รักษาโรคต่อมลูกหมากโต

วิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แบ่งออกเป็น

  1. รักษาด้วยยาช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก ได้แก่ ยาต้านระบบประสาทอัลฟ่า (Alpha Blocker) ช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 5 อัลฟ่ารีดักเทส (DHT) และมีผลกับขนาดต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก
  2. ผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น TURP, TURPV และ Laser
    • การรักษาทางศัลยกรรมผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ TURP ใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าแบบประจุเดี่ยวโมโนโพลาร์เพื่อตัดและหยุดเลือดไปพร้อมกัน
    • การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ TURPV หรือ Plasma Kinetic (PK) ใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าประจุคู่ไบโพลาร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ส่วนที่ถูกตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าไม่ให้ไหม้เกรียมมากเกินไป มีระบบช่วยระเหิดเนื้อเยื้อคล้ายคลึงกับการใช้แสงเลเซอร์คือ แวโพไลเซชัน (Vaporization)

ภาวะแทรกซ้อนถ้าไม่รีบรักษา

  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด เพราะต่อมลูกหมากบวม
  • ไตเสื่อม ไตวาย

เพราะการโตผิดปกติของต่อมลูกหมากเป็นเรื่องที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม นอกจากหมั่นสังเกตขณะขับถ่ายปัสสาวะแล้ว เมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไปควรตรวจเช็กภายในกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาความเสี่ยงและป้องกันรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings